พพ.ลงพื้นที่ จ.ราชบุรี เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าเเละเเปลงปลูกหญ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาอย่างยั่งยืน

พพ.ลงพื้นที่ จ.ราชบุรี เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าเเละเเปลงปลูกหญ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก  สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาอย่างยั่งยืน
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  กระทรวงพลังงาน (พพ.) สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน  ลงพื้นที่ จ.ราชบุรี เยี่ยมชมพื้นที่นำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ณ โรงไฟฟ้าชุมชนโคราช จำกัด ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนเกษตรยั่งยืนบ้านหนองกวาง และโรงไฟฟ้าชุมชนสุรินทร์ จำกัด ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนปลูกหญ้าเนเปียร์บ้านห้วยปลากดเล็ก โดยมีนางสุภาพร เกาสังข์ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรยั่งยืนบ้านหนองกวาง และนางสุภัชทรา นุชพันธ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนปลูกหญ้าเนเปียร์บ้านห้วยปลากดเล็ก และนายเตชธรรม แย้มพงษ์ ที่ปรึกษา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรยั่งยืนบ้านหนองกวาง ให้การต้อนรับ 

นายเรืองเดช ปั่นด้วง รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า การลงพื้นที่ของ พพ.ในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นการเยี่ยมชมพื้นที่นำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก  จังหวัดราชบุรี โดย บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนโคราช จำกัด ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนเกษตรยั่งยืนบ้านหนองกวาง  มีกำลังการผลิตติดตั้ง 3.5 เมกะวัตต์ (ปริมาณไฟฟ้าเสนอขาย 3 เมกะวัตต์)   ซึ่งปริมาณเชื้อเพลิงที่รับซื้อต่อโครงการ 3.25 ล้านตัน ตลอดอายุโครงการ และมีพื้นที่เพาะปลูกต่อโครงการ 1,800-2,000 ไร่  และบริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนสุรินทร์ จำกัด ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนปลูกหญ้าเนเปียร์บ้านห้วยปลากดเล็ก มีกำลังการผลิตติดตั้ง 2.5 เมกะวัตต์ (ปริมาณไฟฟ้าเสนอขาย 2 เมกะวัตต์)  มีปริมาณเชื้อเพลิงที่รับซื้อต่อโครงการ 2.34 ล้านตัน ตลอดอายุโครงการ  พื้นที่เพาะปลูกต่อโครงการ 1,300-1,400 ไร่ ณ บริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนสุรินทร์ จำกัด ทำให้เกิดความร่วมมือของสมาชิกชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า สร้างโอกาส  เพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 
นายเรืองเดช กล่าวต่อไปว่า ได้จัดทำโครงการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ตามนโยบายส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก  โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน  เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนโครงการฯ ให้บรรลุเป้าหมายตามแผนส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชุมชน วิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถเข้าถึงข้อมูลองค์ความรู้และผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับจากชุมชน   


ในส่วนของวิสาหกิจชุมชนนั้นได้เปิดรับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนครบแล้ว 200  ราย  พร้อมสร้างความมั่นใจ ความเข้าใจให้กับสมาชิกวิสาหกิจชุมชน ซึ่งส่วนใหญชาวบ้านมีอาชีพปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง และบางส่วนปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อเลี้ยงปศุสัตว์อยู่ ทางวิสาหกิจชุมชนจึงมีความตื่นเต้นกับการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เป็นอย่างมาก  เพราะนอกจากจะมีตลาดรองรับหญ้าเนเปียร์ในรูปของเกษตรพันธะสัญญานานถึง 20 ปีแล้ว  แต่ละวิสาหกิจชุมชนยังได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการได้ถือหุ้นบุริมสิทธิอีก 10% 
นายเตชธรรม แย้มพงษ์ ที่ปรึกษา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรยั่งยืนบ้านหนองกวาง เปิดเผยว่าในปัจจุบันสมาชิกวิสาหกิจชุมชนหลายรายที่ปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อขายปศุสัตว์มีรายได้เฉลี่ย 24,000-25,000 บาท/ไร่/ปี ในขณะที่ปลูกอ้อยนั้นมีรายได้เฉลี่ย 12,000 บาท/ไร่/ปี  แต่ต้นทุนในการปลูกอ้อยกับปลูกหญ้ากลับใกล้กันคือ 10,000 บาท/ไร่/ปี  เมื่อมีโรงไฟฟ้าชุมชนฯ มารับซื้อก็จะยิ่งทำให้มีตลาดเพิ่ม  ทำให้คาดหมายได้ว่าในอนาคตจะมีผู้หันมาปลูกหญ้าเนเปียร์กันมากขึ้น 

นางนิตยา ชุ่มภักดี เจ้าของแปลงหญ้าเนเปียร์รายหนึ่ง เปิดเผยว่า ตนเองปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อการเลี้ยงปศุสัตว์ ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ย 30,000 บาท หากโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เปิดดำเนินการ  ตนก็จะลดพื้นที่ปลูกอ้อยมาปลูกหญ้าแทน 
นายอดิศักดิ์  ชูสุข ผู้อำนวยการกองวิจัย  ค้นคว้าพลังงาน  กล่าวในตอนท้ายว่า  ปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ที่ผ่านการคัดเลือกเพียง 43 แห่ง  ซึ่งในอนาคตจะต้องมีจำนวนโรงไฟฟ้าชุมชนฯเพิ่มขึ้นมากกว่านี้  ทำให้มีความต้องการหญ้าเนเปียร์จำนวนมาก ประกอบกับเป็นเกษตรพันธะสัญญาที่มั่นคงถึง 20 ปี ทำให้มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีการลดพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีปัญหาด้านราคาไม่แน่นอน  อย่างอ้อย  ข้าวและข้าวโพด  อาจจะส่งผลให้ในอนาคตเมื่อการผลิตลดลง  กลับจะทำให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจเหล่านั้นมีราคาสูงขึ้น  เป็นผลดีต่อการเกษตรโดยรวมของประเทศ


ความคิดเห็น