กิจกรรม ชิคชิค น่ารัก “ชัก..อยากจะวิ่ง..5 : Run For Epilepsy 2024” เนื่องในโอกาสวันโรคลมชักสากล (International Epilepsy Day)


สถาบันประสาทวิทยา จัดกิจกรรม ชิคชิค น่ารัก “ชัก..อยากจะวิ่ง..5” เชิญชวนประชาชนมาร่วมกันออกกำลังกายป้องกันโรค ซึ่งมีผู้มาร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
เช้าวันนี้ (11กพ.) สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ร่วมกับมูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา และชมรมโรคลมชักเพื่อประชาชน ได้จัดกิจกรรม ชิคชิค น่ารัก “ชัก..อยากจะวิ่ง..5 : Run For Epilepsy 2024” เนื่องในโอกาสวันโรคลมชักสากล (International Epilepsy Day) ที่ศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ โดยเชิญชวนประชาชนมาร่วมออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะโรคทางระบบประสาท เช่น โรคลมชัก ซึ่งสามารถป้องกันหรือชะลอได้ด้วยการออกกำลังกาย พร้อมกับการให้ความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักอย่างถูกต้อง
กิจกรรมดังกล่าวประกอบด้วยการแข่งขันวิ่งรวม 8 ประเภท ได้แก่ วิ่งระยะทาง 5 กม.และ 10 กม. แบบ เดี่ยวชาย-หญิง, แบบคู่, แบบทีม 5 คน และมีกิจกรรมพิเศษ​คือ “วิ่งถอยหลัง : Running Backward” เพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก หากเจ็บป่วยด้วยโรคทางระบบประสาท โดยรายได้จากกิจกรรมครั้งนี้จะนำเข้ากองทุนเพื่อผู้ป่วยโรคลมชัก มูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป

โรคลมชัก เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อย ประมาณการว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยร่วม 6 แสนคน โรคลมชักเป็นความผิดปกติของการทำงานของสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเกร็ง กระตุก เหม่อนิ่ง หรือทำอะไรไม่รู้ตัว อาการจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 1-3 นาที ส่วนใหญ่ไม่เกิน 5 นาที มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงมาจากอุบัติเหตุต่อสมอง โรคอัมพาต หรือโรคเนื้องอกในสมอง เป็นต้น

วิธีการรักษาโรคลมชัก มี 3 แบบ คือ 1.รักษาด้วยการรับประทานยากันชัก 2.รักษาด้วยการผ่าตัด กรณีดื้อต่อการรักษาด้วยยา หรือมีเนื้องอกผิดปกติจากสาเหตุต่างๆ 3.การรักษาแบบประคับประคอง เช่น การใส่อุปกรณ์หยุดชัก ซึ่งมีผู้ป่วย 1 ใน 3 ที่ดื้อต่อยากันชัก ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยผู้ป่วยที่มีอาการไม่ยุ่งยากซับซ้อนสามารถผ่าตัดรักษาได้ แต่หากมีอาการซับซ้อนต้องใช้เครื่องมือวัดคลื่นไฟฟ้าสมองชนิดพิเศษ ราคาประมาณ 200,000-500,000 บาท/ราย ซึ่งไม่สามารถเบิกจ่ายได้ 

ปัจจุบันการรักษาโรคลมชัก แพทย์จะให้ยาเพื่อป้องกันและลดโอกาสเกิดการชักซ้ำ สิ่งสำคัญหากพบผู้ป่วยขณะมีอาการชัก ต้องปฐมพยาบาลให้ถูกวิธี ระวังผู้ป่วยไม่ให้เกิดอันตรายขณะชัก แต่ห้ามนำช้อนหรือสิ่งของต่างๆ ไปงัดหรือง้างปากผู้ป่วยเพื่อป้องกันการกัดลิ้น สิ่งที่ควรทำคือจับผู้ป่วยพลิกตะแคงตัวป้องกันการสำลัก และรอจนหยุดชัก ซึ่งมักไม่เกิน 5 นาที หากยังมีอาการชักนานเกิน 5 นาที ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

ความคิดเห็น