เครือสารสาสน์ จัดประชุมสามัญประจำปีการศึกษา 2567

เครือสารสาสน์ จัดประชุมสามัญประจำปีการศึกษา 2567 และการเสาวนา "ความคาดหวังของสถาบันอุดมศึกษาต่อนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย" 

เมื่อวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2567 โรงเรียนในเครือสารสาสน์ได้มีการจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีการศึกษา 2567 โดยในครั้งนี้ จัดเป็นครั้งที่ 48 ในปีนี้ถือว่าเป็นปีที่สำคัญเนื่องจากโรงเรียนในเครือสารสาสน์ก่อตั้งครบรอบ 60 ปี ในวันนี้ โดยมี ดร.สุทธิพงศ์ ยงค์กมล คณะกรรมการบริหารโรงเรียนในเครือสารสาสน์เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.วริศนันท์ เดชปานประสงค์ คณะกรรมการบริหารฝ่ายวิชาการระดับมัธยม และคณะกรรมการคณะกรรมการบริหาร ครูระดับมัธยมศึกษา เข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบนโยบายที่จะขับเคลื่อนในปีการศึกษา 2567 ณ หอประชุมพิบูลย์สุวรรณภูมิ สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ 
ซึ่งในงานมีบูธนิทรรศการ และการเสวนาพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอุดมศึกษามาร่วมเสวนา  ภายใต้ หัวข้อ  “ความคาดหวังของสถาบันอุดมศึกษาต่อนักเรียนระดับมัธยมศึกษา” โดยมี รศ.ดร.จรสวรรณ โกยวานิช ผู้อำนวยการสำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดร.สุทธิพงศ์ วรอุไร อาจารย์จากสำนักนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รศ.ดร.สุภกร บุญยืน อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายมนัส อ่อนสังค์ (พี่ลาเต้ Dek-D) บรรณาธิการข่าวการศึกษาและแอดมิดชั่นบริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน ซึ่งดร.วริศนันท์ เดชปานประสงค์ เป็นผู้ดำเนินรายการ 

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มรายการ ดร.วริศนันท์ เดชปานประสงค์ ได้เกริ่นถึงปัญหาอัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่องของสังคมจากอดีตสู่ปัจจุบัน จึงทำให้หลักสูตรในระบบไม่ตอบโจทย์ด้าน soft skills ไม่ทันต่อความต้องการในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ปัญหาโครงสร้างตลาดแรงงาน Labor Market Structure Problems ที่แสดงถึงสัดส่วนของผู้สูงวัยมีอัตราที่เพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มที่ต้องมีการเพิ่มทักษะผู้สูงวัยเพื่อให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ และวิธีการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่มีการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวเข้าสู่รูปแบบของWork integrated Learning ซึ่งเป็นการเรียนแบบบูรณาการ ที่เน้นให้ลงมือปฏิบัติจริง สูงขึ้น และการเพิ่มคอร์สระยะสั้นต่างๆ  
เริ่มด้วยหัวข้อที่ 1 คือโลกในปัจจุบันมีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากยุค 4.0 เข้าสู่ 5.0 ส่งผลต่อปัญหาการผลิตบัณฑิตออกจากรั้วสถาบันต่างๆ และยังไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของโลกในศตวรรษที่ 21 สถาบันระดับอุดมศึกษามี ทิศทางในการผลิตบัณฑิตให้มี Hard Skill และ Soft Skill เพื่อตอบโจทย์ในศตวรรษนี้ได้อย่างไรบ้าง โดยดร.สุทธิพงศ์ วรอุไร และผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่านให้ความเห็นว่า ณ ปัจจุบัน ทักษะของผู้เรียนยังไม่ตอบโจทย์กับตลาดแรงงาน ควรจะพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะ เช่นการสื่อสาร การนำเสนอ เปิดโอกาสในผู้เรียนได้แสดงออก รู้จุดดี จุดด้อยของตัวเองเพื่อหาสิ่งที่ควรส่งเสริม พัฒนาและปรับปรุง โดยพี่ลาเต้ Dek-d ได้กล่าวเสริมว่า แต่ละมหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลง และการรับรอบโควตาจะเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนความต้องการของแต่ละมหาวิทยาลัยได้ และระบบ TCAS ในปัจจุบันมีความเอื้อให้แก่นักเรียนและตอบโจทย์ความถนัดของแต่ละคนได้มากขึ้น

หัวข้อที่ 2  คือ แนวโน้มเปลี่ยน แสดงว่าทางมหาวิทยาลัยต้องปรับวิธีการเรียนการสอน เพื่อให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของโลกในศตวรรษที่ 21 ทุกมหาวิทยาลัยจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมมากขึ้น โดยจะยึดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามลักษณะของผู้เรียน บรรยายให้น้อยลง ทำกิจกรรมให้มากขึ้น โดยรศ.ดร.สุภกร บุญยืน ได้กล่าวเสริมว่าถ้าพบผู้เรียนที่มีปัญหาหรือจุดด้อย ให้คุณครูทุกรายวิชาเข้ามาพูดคุยร่วมกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล เน้นให้ผู้เรียนเกิดความสุขในการเรียน เมื่อผู้เรียนมีความสุข ผลลัพธ์การเรียนก็จะดีขึ้นไปด้วย

หัวข้อที่ 3  คือสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ คิดว่าทางโรงเรียนควรจะเตรียมความพร้อมนักเรียนอย่างไร หรือ คาดหวัง ว่านักเรียนมัธยมที่จะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยของท่าน ควรมี Knowledge  Skills  Ethics Charactor อย่างไรบ้าง ที่จะมาต่อยอดในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีความสุข ประสบความสำเร็จในการเรียน อยู่ร่วมกับผู้อื่นและสามารถประกอบอาชีพในอนาคตได้  โดยไม่หลุดออกนอกกรอบหรือโดนรีไทร์ไประหว่างทาง รศ.ดร.จรสวรรณ โกยวานิช ระบุว่า ทางโรงเรียนควรที่จะสื่อสารกับผู้เรียนและผู้ปกครองว่า ผู้เรียนถนัดอะไร ด้านไหน แล้วควรเสริมว่าต้องเรียนแล้วเรียนอย่างมีความสุขด้วย ครูต้องแนะแนว ไม่ใช่การชี้ทาง คณะที่ชอบ อาจจะไม่ใช่คณะที่ใช่เสมอไป ซึ่งในส่วนของพี่ลาเต้ Dek-d กล่าวว่า เห็นด้วย เนื่องจากการตัดสินใจเป็นสิทธิ์ของผู้เรียน คุณครูควรจะสนับสนุนและส่งเสริมมากกว่าชี้ทาง การแนะแนวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยรศ.ดร.สุภกร บุญยืน ได้กล่าวเสริมว่า นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว โรงเรียนควรจะเตรียมความพร้อมผู้เรียนเรื่องการตอบคำถามในรอบสัมภาษณ์ให้มากขึ้น โดยการฝึกบรรยาย เขียนบทความมากขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารให้ได้ใจความ 

งานเสวนาหัวข้อ “ความคาดหวังของสถาบันอุดมศึกษาต่อนักเรียนระดับมัธยมศึกษา” ในครั้งนี้ มุ่งหวังจะให้เกิดความเข้าใจร่วมกันระหว่าง ผู้บริหาร ครู โดยเฉพาะครูในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เป็น 1 ใน กำลังสำคัญที่จะส่งต่อผู้เรียนที่มีความพร้อม มีคุณภาพ ทั้งด้าน Soft skill และ Hard skill ตัวผู้เรียน ผู้ปกครอง และสถาบันอุดมศึกษา

ความคิดเห็น